Categories
Bicycle related

“เลิกตดให้กันดมซะที!” – เสียงบ่นจากคนรอบกายในบริบทของการคมนาคม

เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะเคยดมกลิ่นผายลมหรือกลิ่นตดของคนอื่น  ไม่ว่าจะเป็นเพราะสถานะการณ์บังคับ,เพราะความคาดไม่ถึง,หรือเพราะเหตุผลอื่นใดอะไรก็ตาม มันคงเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าพึงประสงค์เลยแม้แต่นิดเดียวสำหรับคนเกือบทุกคน (นอกเสียจากคุณจะมีความชอบที่แปลกและแหวกแนวเหนือความคาดเดา!)  แต่จะรังเกียจมันกันอย่างไรก็ตาม การผายลมหรือการตดนั้น เป็นกิจวัตรธรรมดาอย่างหนึ่งของมนุษย์ ตดถือเป็นผลผลิตจากการย่อยสลายและแปรสภาพอาหารให้เป็นพลังงานโดยร่างกาย พลังงานที่ว่านี้ก็นำมาใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อให้เราสามารถคงมีชีวิตอยู่และทำกิจกรรมต่างๆได้ตามความปรารถนา  เชื่อไหมว่าคนเรานั้นโดยเฉลี่ยแล้ว ตดประมาณ10-20ครั้งต่อวัน ตดเล็กตดน้อยเหล่านี้รวมแล้วเป็นปริมาณก๊าซเกือบกว่า 1ลิตรเลยที่เดียวเชียว องค์ประกอบของก้อนตดหนึ่งก้อนหนึ่งนั้นประกอบด้วย ไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจน ออกซิเจน และมีเทนรวมเป็นส่วนใหญ่  ที่แปลกคือ ก๊าซเหล่านี้ล้วนไม่มีกลิ่น! สิ่งที่น่าแแปลกใจต่อมาคือกลิ่นตดที่น่าคลื่นไส้นั้นมาจากก๊าซกำมะถันซึ่งมีปริมาณแค่ 1%ของก้อนตดของเรา! ก๊าซกำมะถันนี้เกิดจากการหมกหมมของอาหารในลำไส้ สังเกตว่าช่วงไหน ระบบขับถ่ายมีปัญหา ถ่ายยากหรืออาหารไม่ย่อย ช่วงนั้นตดเราจะเหม็นมาก เหม็นจนคนตดเองแทบจะเป็นลมเลยที่เดียว



และถ้าหากเราเปรียบเทียบร่างกายมนุษย์กับรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซด์ที่เราขับขี่แล้ว อาหารที่เรารับประทานกันก็คงไม่ต่างจากน้ำมันที่เราเติมให้รถ และตดของเราก็คงไม่ต่างจากไอเสียของรถที่มันพ่นออกมา ไอเสียของรถยนต์นั้นส่วนประกอบหลักๆของมันคือ ไนโตรเจน,ไอน้ำ และ คาร์บอนไดออกไซด์  ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารที่ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ  (แม้ว่าจะมีการยอมรับอย่างแพร่หลายว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนก็ตาม) สารไอเสียของรถยนต์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์นั้นเป็นส่วนประกอบรองซึ่งมี  คาร์บอนมอนออกไซด์, ไฮโดรคาร์บอน, ไนโตรเจน ออกไซด์, โอโซน และ ฝุ่นละอองต่างๆ ปริมาณของสารอันตรายเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความสภาพและความสมบูรณ์ของเครื่องยนต์ หากเครื่องยนต์เก่ามีปัญหาและไม่ได้รับการดูแล การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ก็จะไม่สมบูรณ์ทำให้ปริมาณสารอันตรายเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย

ในช่วงที่ผ่านมา ผมใช้จักรยานในการเดินทางในเชียงใหม่ค่อนข้างบ่อยมาก บ่อยจนทำให้ผมเริ่มเกิดความอืมระอาในการดมตดของผู้อื่น ไอเสียและควันดำที่ผลิตโดยรถต่างๆนั้นมีมากโดยเฉพาะในช่วงเร่งด่วน มันมากจนผมแสบทั้งตา จมูกและคอ ทั้งที่ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะไม่ใส่หน้ากากกรองอากาศเวลาปั่นจักรยาน เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้จักรยานไม่น่าปั่น(สำหรับคนอื่นที่ยังไม่ได้ปั่น หรือคิดว่าจะปั่น) แต่ผมต้องจำใจซื้อหน้ากากกรองมาใส่เพราะทนแสบคอแสบจมูกไม่ไหว ผมไม่เข้าใจว่าคนขับรถจักรยานยนต์เขาไม่รู้สึกกันบ้างเหรอ หรืออากาศที่เขาหายใจมันเป็นคนละอันกับที่ผมหายใจอยู่?
ผมนึกถึงบทความทางวิชาการที่เคยอ่านในอดีต บทความเหล่านั้นตั้งข้อสังเกตุว่าเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีคนป่วยโรคภูมิแพ้และทางเดินหายใจมากที่สุดในเมืองไทย เมื่ออ่านครั้งแรกผมสงสัยว่าจริงหรือ แต่เมื่อได้สัมผัสเองผมเริ่มไม่แปลกใจ ก็คนเชียงใหม่ตดให้กันดมทั้งเช้าและเย็นอย่างนี้นิครับ จะไม่ให้ป่วยคลื่นเหียนเวียนตดกันได้อย่างไร!

ข่าวทีวีช่อง 3 วันอังคาร ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553 ที่มา http://www.krobkruakao.com

ผมเชื่อว่าไม่ใช่ผมคนเดียวที่อืมระอากับการดมตดของผู้อื่น แต่คงไม่มีใครที่คิดจะแก้ไข คนเชียงใหม่จึงยังทนดมตดกันไป หรือหากจะแก้ไขก็คงเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ และเท่าที่กำลังทรัพย์จะอำนวย การซื้อรถเก๋งแอร์เย็นฉ่ำหรือการซื้อหน้ากากกันพิษมาใส่ก็คงเป็นวิธ๊หนึ่งในหลายๆวิธีในการกั้นตัวเองออกจากกลิ่นตดที่สุดจะทนไหว แต่การแก้ไขอย่างนี้คงจะเป็นการตัดช่องน้อยแต่พอตัว และเป็นเพียงช่องน้อยที่ใช้ได้เพียงชั่วคราว ในเมื่ออากาศที่เราหายใจกันอยู่นั้นล้วนเป็นอากาศที่อยู่ใต้ฟ้าผืนเดียวกันใช่ไหม?
ผมเชื่อว่าอากาศที่สะอาด มีความสำคัญอย่างมากกับชีวิตของคนทุกคนในโลกใบนี้ แต่ผมสงสัยว่าทำไมเราไม่ใส่ใจกับสิ่งสำคัญนี้เลย ทั้งๆที่มันมีผลทั้งกับตัวเราเองและคนที่เรารักโดยตรง การแก้ไขปัญหานี้ผมเชื่อว่าเราสามารถเริ่มด้วยจากตัวเราเองครับ เริ่มด้วยการไม่ตดให้คนอื่นดม โดยการลดการใช้รถลงบ้างเท่าทีอำนวย หันมาใช้จักรยานหรือการเดิน   ลดความเหม็นและขนาดของก้อนตดที่เราผลิตโดยการดูแลเครื่องยนต์และปรับแต่งเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพ ช่วยกันฟอกอากาศฟอกกลิ่นตดของเราโดยการ รณรงค์และผลักดันให้มีการปลูกต้นไม้ในเมืองของเรา ผมเชื่อว่ามาตรการง่ายๆเหล่านี้ เริ่มได้เลยครับ และจะทำให้อากาศของเมืองเชียงใหม่หรือเมืองที่คุณอยู่สะอาดขึ้น ไม่ต้องทนดมตดของกันและกันอยู่อย่างนี้ต่อไปครับ!

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s