Categories
ข่าวตัดมา Bicycle related

ข่าวตัดมา: ทางจักรยาน Creative Economy ของจริง | โอเพ่นออนไลน์

ทางจักรยาน Creative Economy ของจริง | โอเพ่นออนไลน์.

http://onopen.com/vanchaitan/10-01-03/5420

การประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก (UNFCCC) เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อเดือนธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งถูกโฆษณาล่วงหน้าว่าจะเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ของผู้นำทั่วโลก ที่จะนำไปสู่ข้อตกลงอันสำคัญ ในการจัดการกับสภาวะโลกร้อนก็ได้สิ้นสุดลง ท่ามกลางความผิดหวังของคนทั่วโลก เพราะดูเหมือนต่างฝ่ายจะมาเถียงกันมากกว่ามาเจรจา

บรรดาตัวการสำคัญอย่างจีน อินเดีย บราซิล สหรัฐอเมริกา แค่สัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  แต่ไม่รับปากว่าจะทำสำเร็จหรือไม่  และประชุมกันใหม่ปีหน้าค่อยมาต่อรองกันใหม่

นี่ขนาดประชุมไปท่ามกลางอากาศวิปริตครั้งใหญ่จากปัญหาโลกร้อน อาทิ หิมะตกหนักทางซีกโลกเหนือ ส่วนซีกโลกใต้ก้อนน้ำแข็งใหญ่ขนาดเกือบเท่าเกาะภูเก็ตที่แตกมาจากแอนตาร์ติ กากำลังลอยมาใกล้ทวีปออสเตรเลียทุกขณะ มนุษย์แต่ละชาติยังคงต่อรองให้ชาติตัวเองได้ผลประโยชน์มากที่สุด

แต่ในท่ามกลางความล้มเหลวของการเจรจา สื่อมวลชนทั่วโลกได้พร้อมใจกันรายงานเรื่องเล็ก ๆ เรื่องหนึ่งที่เป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืน นั่นคือ ตัวอย่างการใช้จักรยานในกรุงโคเปนเฮเกน

เมืองหลวงของประเทศเดนมาร์กแห่งนี้กลายเป็นเมืองที่มีผู้ใช้จักรยานมาก ที่สุดในโลก กล่าวคือทุก ๆวันประชากรของกรุงโคเปนเฮเกนราว 40 % หรือประมาณ 4 แสนกว่าคน ขี่จักรยานไปทำงาน เรียนหนังสือ จ่ายกับข้าว  ไปดูหนัง ดูคอนเสิร์ต ฯลฯ

พวกเขาขี่จักรยานเพื่อใช้ในชีวิตจริง ไม่ใช่ขี่เที่ยวเล่นแบบชิว ๆ  ขี่กันจนกลายเป็นชีวิตประจำวันทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ คนทำงาน แม่บ้าน

หลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลเดนมาร์กได้สร้างแรงจูงใจให้คนเมืองหันมาใช้รถจักรยานและการขนส่งมวล ชนแทนการใช้รถส่วนตัว  โดยการเก็บภาษีรถยนต์ในราคามหาโหด รวมถึงค่าจอดรถก็แพงไม่แพ้กัน ทำให้คนเดนมาร์กไม่มีกำลังซื้อรถส่วนตัวในขณะเดียวกันก็อำนวยความสะดวกในการ สร้างระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า และทางจักรยานมากมาย

ความกว้างของถนนบางสายอาจจะแคบกว่าทางจักรยานหรือฟุตบาทด้วยซ้ำ เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับทางจักรยานและการเดินเท้ามากกว่าทางรถยนต์

สองสามปีที่ผ่านมา เทศบาลกรุงโคเปนเฮเกนทุ่มเงินเกือบสองพันล้านบาท สร้างทางจักรยานและทำให้การจราจรปลอดภัยมากขึ้นสำหรับคนขี่จักรยาน ซึ่งสร้างแรงจูงใจให้คนเมืองทิ้งรถเก๋งออกมาขี่จักรยานกันมากขึ้น  และบรรดาพนักงานเทศบาลรู้ดีว่า หากวันไหนหิมะตกหนัก ให้เก็บกวาดหิมะบนทางจักรยานก่อนถนน

ทุกวันนี้จึงมีชาวโคเปนเฮเกนเพียงร้อยละ 30 ที่ใช้รถส่วนตัว ที่เหลือใช้ระบบขนส่งมวลชนและจักรยาน และทางเทศบาลกรุงโคเปนเฮเกนอีกห้าปีข้างหน้าจำนวนคนขี่จักรยานจะพุ่งไปร้อย ละ 50

เมื่อปริมาณรถบนถนนน้อยลง การใช้น้ำมันก็ลดลง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ไม่มีปัญหาหงุดหงิดจากรถติด คุณภาพอากาศดีขึ้นทันตา และอุบัติเหตุบนท้องถนนก็ลดลง  คุณภาพชีวิตก็ตามมา

ลองหลับตานึกภาพกรุงเทพมหานครที่มีประชากร 10 ล้านคน รถยนต์ 6 ล้านคัน  หากรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะให้คนกรุงประมาณ 10 %  หันมาขี่จักรยาน  โดยการสร้างทางจักรยาน สร้างระบบการจราจรที่ปลอดภัยสำหรับจักรยาน  รับรองว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างแน่นอน

สองสามปีที่ผ่านมา หลังจากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากลองสังเกตดู จะเห็นปริมาณคนใช้จักรยานในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นทันตาเห็น  หากลองไปสำรวจร้านขายรถจักรยานมือสองนำเข้าจากญี่ปุ่นที่เคยมีสองสามแห่ง ตอนนี้ผุดกันขึ้นมาราวกับดอกเห็ด  ยอดจำหน่ายรถจักรยานทั้งของในและนอกประเทศเพิ่มขึ้นหลายเท่า

นี่ขนาดกทม. ยังไม่ได้มีมาตรการเรื่องทางจักรยานอย่างจริงจัง  ที่ผ่านมา ดูเหมือนนโยบายเรื่องทางจักรยานของกทม. จะทำเป็น “ของเล่น” หรือ “สร้างภาพ”มากกว่าจะเห็นว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาการจราจร

ผู้เขียนเชื่อว่า คนเมืองจำนวนมากอยากขี่จักรยานไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ หากได้หลักประกันว่า ทางจักรยานจะปลอดภัยจากอุบัติเหตุ

แต่ดูเหมือนรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยสนใจ ทางจักรยาน อย่างจริงจัง ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะเกรงใจบรรดาอุตสาหกรรมรถยนต์ หรือนักการเมืองอาจจะไม่มีวิสัยทัศน์พอ  จักรยานในสายตาของผู้มีอำนาจจึงยังเป็นเพียงการ ขี่เล่น ๆ  ขี่ออกกำลังกาย  ขี่รณรงค์ลดโลกร้อน  มากกว่าการขี่ใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน ทางจักรยานในกทม. จึงดูจะเป็นทางพิการ มากกว่าทางที่ใช้งานได้

ทุกวันนี้จักรยานในชีวิตจริงจึงเป็นที่น่ารังเกียจจากทุกฝ่าย จะขี่บนถนน ก็กลัวโดนรถเมล์ไล่บี้ แถมทางจักรยานแถวเกาะรัตนโกสินทร์ก็กลายเป็นที่จอดรถทัวร์ ครั้นจะขี่บนทางเท้า ก็โดนแม่ค้าหาบเร่ยึดครอง แถมที่จอดรถจักรยานหลายแห่ง ก็ถูกรื้อทิ้งเป็นที่ขายของ ครั้นจะหลบไปขี่ในสวนสาธารณะก็ถูกรปภ.ไล่ออกมา

อย่างไรก็ตาม ทางจักรยานกำลังเป็นเทรนด์ หรือกระแสที่มาแรงมากในเมืองหลวงเกือบทุกแห่งในยุโรปและอเมริกา ตั้งแต่นิวยอร์ก ซีแอตเติล ซานฟรานซิสโก ลอนดอน สต็อกโฮล์ม ออสโล เมลเบิร์น ซิดนีย์ และโตเกียว เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยลดปัญหาโลกร้อน ลดการขาดดุลจากการนำเข้าน้ำมัน แก้ปัญหาการจราจรและลดอุบัติเหตุด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดด้วย

ล่าสุดชาวนิวยอร์คใช้จักรยานเพิ่มสูงขึ้นถึง 26 % เทศบาลกรุงนิวยอร์คสร้างช่องทางจักรยานเพิ่มขึ้นอีก 300 กว่ากิโลเมตร และได้เปลี่ยนอาคารที่จอดรถให้เป็นสวนสาธารณะ ขณะที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีจำนวนจักรยานพอ ๆกับจำนวนประชากร และได้รับการยกย่องว่ามีทางจักรยานสวยและปลอดภัยที่สุด

ทางจักรยานจึงเป็นเสมือน Creative Economy แนวใหม่ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของผู้บริหารประเทศ  กล้าผลักดันความคิดใหม่ ๆ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ และคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยรวม

เพียงแต่ว่าบ้านเราคงต้องอาศัยกึ๋นและความกล้าของนักการเมืองด้วย ที่ต้องทำให้ ทางจักรยาน เป็นวาระของชาติ มีนโยบายและงบประมาณชัดเจน โดยไม่ต้องเกรงใจบรรดาอุตสาหกรรมรถยนต์และผู้ผลิตน้ำมันให้มาก  ซึ่งผู้เขียนเชื่อมั่นว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างแน่นอน

ทางจักรยาน จึงถือเป็นการ CHANGE ครั้งสำคัญของสังคมไทย เพราะเชื่อขนมกินได้ว่าจะได้รับการต่อต้านจากหลายฝ่ายทำนองว่า ทำไม่สำเร็จหรอก วุ่นวาย มันยากเกินไป

โอบามาร์ก ผู้เพิ่งไปร่วมงานมอเตอร์โชว์เมื่อเร็ว ๆนี้  กล้า ไหมครับ

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 3 มกราคม 2553

Categories
ข่าวตัดมา Bicycle related

มลพิษในเมือง ลดได้ด้วยจักรยาน – มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ปั่นจักรยาน

แม้กรุงเทพมหานครจะไม่ต้องผจญปัญหาเรื่องของฝุ่นควันอย่างพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อุดมด้วยมลพิษติดลำดับต้นประเทศ

ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลกระบุว่า จังหวัดในประเทศไทย ที่มีระดับมลภาวะทางอากาศสูงสุดคือที่จ.สระบุรี ซึ่งสามารถวัดระดับฝุ่นได้ถึง 59 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามมาด้วยย่านอำเภอพระประแดง ที่ 55 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, กรุงเทพฯ 54 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ที่ 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, จ.ราชบุรี ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ที่ 49 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นอกจากนั้น อ.บางกรวย จ.นนทบุรี, นครราชสีมา, นครสวรรค์, ลำปาง, เชียงใหม่, ระยอง และชลบุรี ก็มีระดับมลภาวะทางอากาศสูงกว่ามาตรฐานเช่นกัน

สาเหตุหลักใหญ่ๆ ของมลพิษทางอากาศ จะมีอยู่ 2 เรื่อง คือ จากยานหาหะนะ และจากโรงงานอุตสาหกรรม

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศจากภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคอุตสาหกรรม ทำให้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของแหล่งธุรกิจและความเจริญมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความต้องการในการเดินทางและการขนส่งมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดเข้าขั้นวิกฤต และนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ การจราจรที่ติดขัดทำให้รถเคลื่อนตัวได้ด้วยความเร็วต่ำ มีการหยุดและออกตัวบ่อยครั้ง ขึ้นน้ำมันถูกเผาผลาญมากขึ้น การสันดาปของน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ การระบายสารมลพิษทางท่อไอเสียในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น

รถยนต์ยิ่งมาก การจราจรยิ่งติดขัด บริเวณที่มีการจราจรติดขัด จะมีปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงกว่าในบริเวณที่มีการจราจรคล่องตัว สารมลพิษที่ระบายเข้าสู่บรรยากาศที่เกิด จากการคมนาคมขนส่ง ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน สารตะกั่วและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์

ล่าสุดจากการรวบรวมสถิติรถที่จดทะเบียนวิ่งตามท้องถนนทั่วประเทศ เฉพาะรถยนต์และรถจักรยานยนต์รวมแล้วกว่า 29 ล้านคัน เป็นยอดรวมเฉพาะในกรุงเทพฯ มากถึง 6.62 ล้านคัน เป็นรถยนต์ 4 ล้านคัน รถจักรยานยนต์ 2.6 ล้านคัน โดยพบว่าทั่วประเทศมีรถจดทะเบียนใหม่เฉพาะรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มวันละ 9,352 คัน

เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเพิ่มมากถึงเฉลี่ยวันละ 2,592 คัน เป็นรถยนต์เฉลี่ยวันละ 1,468 คัน รถจักรยานยนต์เฉลี่ยวันละ 1,124 คัน

อย่างไรก็ดี หนทางการลดมลพิษนั้น ก็ใช่ว่าไม่มี หนทางหนึ่งที่มีการพยายามผลักดันให้เกิดด้วยองค์กร กลุ่มสังคม นอกจากการลดใช้ยานพาหนะ การประหยัด ยังมีอีกวิธี คือ การปั่นจักรยาน

ในเรื่องการคมนาคมเพื่อลดมลพิษ จักรยาน ถูกยกมาเป็นทางเลือกหนึ่งเสมอ แต่ทางเลือกนี้ก็มักตกประเด็นไป เมื่อถึงเวลาผลักดันเป็นวาระ หรือเมื่อลงมือปฏิบัติ

อย่างที่ทราบกันดี แม้จะมีการ “สร้าง” ทางจักรยานขึ้นมาอย่าง “ง่ายๆ” ตามถนนหรือบนฟุตบาทบางเส้น แต่ก็ไม่ได้มีการก่อให้เกิดแรงจูงใจในการอยากออกไปปั่นจักรยานกันมากนัก สาเหตุมาจากอะไร คำตอบที่ชัดเจนของคำถามเห็นจะเป็นเรื่อง “ความปลอดภัย”

เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2554 มูลนิธิโลกสีเขียว ได้ทำแบบสำรวจ “คนกรุงเทพฯ อยากได้เลนจักรยานไหม” โดยใช้คำถามมี 4 ข้อ ได้แก่ 1. โดยปกติ คุณใช้พาหนะประเภทใดเดินทางในกรุงเทพฯ มากที่สุด ? 2. คุณเคยขี่จักรยานในกรุงเทพฯ หรือไม่ ? 3. ถ้าสามารถขี่จักรยานในกรุงเทพฯ ได้อย่างปลอดภัย คุณจะขี่ไหม ? 4. ถ้าต้องแบ่งพื้นที่บนถนนมากั้นเป็นเลนจักรยาน คุณจะยอมไหม ?

จากผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งแบ่งออกเป็น คนที่ใช้ขนส่งมวลชนเป็นพาหนะหลักในการสัญจรร้อยละ 53 คนที่ใช้รถยนต์ส่วนตัว แท็กซี่ หรือมอเตอร์ไซค์ร้อยละ 39  มีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่ปัจจุบันใช้จักรยานเป็นพาหนะหลัก โดยผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด มีถึงร้อยละ 48 ที่ไม่เคยใช้จักรยานมาก่อนในกรุงเทพมหานคร ผลสำรวจออกมาว่า ร้อยละ 86 บอกว่าจะออกมาขี่จักรยานบนท้องถนน หากรู้สึกว่าสามารถขี่ได้อย่างปลอดภัย และร้อยละ 93 ที่ยินยอมให้จัดสรรแบ่งปันพื้นที่จราจรบนถนนมากั้นเป็นเลนให้จักรยาน

ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว ได้ให้ความเห็นประเด็นความปลอดภัยและสุขภาพที่นักขี่และนักอยากขี่เป็นกังวล (ตีพิมพ์นิตยสาร Way ฉบับที่ 46) ว่า มูลนิธิโลกสีเขียวทำสำรวจความคิดเห็น 4,500 คน ใน 2-3 คำถามหลักๆ เราถามว่า “จะขี่จักรยานไหม ถ้าปลอดภัย” ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์บอกว่าขี่ ถามต่อว่า ถ้าขอแบ่งเลนถนนมากั้นเป็นเลนจักรยาน จะยอมไหม 95 เปอร์เซ็นต์ยอม

“ความปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด มากกว่าเรื่องความร้อน ความปลอดภัยในที่นี้หมายถึงกลัวถูกชนถูกเฉี่ยว และกลัวมลพิษ”

เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว ให้ความเห็นต่อว่า “ถ้าดูสถิติทั่วโลก จักรยานเกิดอุบัติเหตุน้อย น้อยกว่าคนเดินแล้วถูกรถชน แต่พอโดนทีมันเป็นข่าวดัง จริงๆ แล้วอุบัติเหตุทั่วไปในโลก ครึ่งหนึ่งเกิดจากความผิดของคนขี่จักรยานเอง ถ้าอยากปลอดภัยก็ต้องปฏิบัติตามกฎจราจร ต้องสื่อสารให้คนขับรถรู้ว่า จักรยานก็เป็นพาหนะอย่างหนึ่ง มีสิทธิใช้ถนน แล้วพอคนเริ่มรู้ว่ามันมีวิธีขี่อย่างไรบ้าง รู้ว่าจุดที่ไม่ปลอดถัยคืออะไร ก็จะค่อยๆ เกิดความมั่นใจ และความมั่นใจมันจะเป็นตัวเซฟเรา”

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก treehugger ระบุว่า จากการศึกษาวิจัยกว่า 14 ปี โดยวิเคราะห์สุขภาพของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 30,000 คน พบว่าการปั่นจักรยานไปทำงานนั้นปลอดภัยกว่าวิธีอื่น นั่นหมายถึงว่าผู้ขี่จักรยานต้องขี่อย่างปฏิบัติตามกฎจราจร ซึ่งในเชิงสถิติระบุว่า การปั่นจักรยานไปทำงานช่วยลดโอกาสที่จะเสียชีวิตลงจากอุบัติเหตุได้ร้อยละ 40 และยังประโยชน์ต่อสุภาพอย่างที่ทราบกันดี

เหนือสิ่งอื่นใด การปั่นจักรยานไปทำงานประมาณ 6.5 กิโลเมตรต่อวัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 900 กิโลกรัมต่อปี 

ข้อมูลจาก guardian.co.uk ระบุว่า ในทวีปยุโรปจะสามารถลดการสร้างภาวะเรือนกระจกลงได้ถึงร้อยละ 25 หากทุกประเทศหันมาใช้จักรยานให้ได้เท่าชาวเดนมาร์ก โดยอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของนักปั่นคือ 27 กรัมต่อกิโลเมตร ส่วนรถยนต์ 271 กรัม รถบัส 101 กรัม เฉลี่ยต่อผู้โดยสาร 1 คน

ส่วนประเทศไทย จากการคำนวนค่าเฉลี่ยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ คนในกรุงเทพฯ ปล่อยถึง 7.3 ตันต่อคนต่อปี เทียบเท่ากับคนนิวยอร์ค และสูงกว่าค่าเฉลี่ยชาวโลกที่ปล่อยเพียง 1 ตันต่อคนต่อปี

เมื่อจักรยานถูกยกเป็นทางเลือกหนึ่งของการลดคาร์บอนฯ ลดมลพิษในเมือง แล้วยังไม่ถึงเวลาส่งเสริมกันอย่างจริงจังอีกหรือ ?

มาเปลี่ยนทางเลือกให้เป็นทางหลัก…

หากลังเล จะเริ่มอย่างไร วันที่ 25 ก.พ. มูลนิธิโลกสีเขียว จัดเทศกาลปั่นเมือง ที่อาคารบันเทิง สวนลุมพินี 16.00 – 20.30 น. ร่วมกิจกรรมมากมายเกี่ยวกับการปั่นจักรยาน เผื่อจะได้ไอเดียในการเริ่มปั่น และทำความเข้าใจ…

ปั่นเมือง

มายาคติ เรื่องควันพิษริมถนน
หลายต่อหลายครั้ง คนไม่สูบบุหรี่กับเป็นมะเร็งร้ายแรงกว่าคนสูบบุหรี่ เพราะแม้ไม่สูบ แต่เมื่ออยู่ใกล้กับคนที่สูบ คนไม่สูบก็มีสิทธิรับสารพิษจากบุหรี่จากการสูดดมเข้าไปได้เช่นกัน แล้วหากจะมาปั่นจักรยาน จะป่วยเพราะรับมลพิษบนท้องถนนอย่างเรื่องของคนไม่สูบบุหรี่หรือเปล่า ?

จากการทดสอบโดยทีมวจัยมหาวิทยาลัยดับลิน พบว่า การเดินหรือการปั่นจักรยานเร็วกว่าปกติ อัตราการหายใจและการทำงานของปอดจะสูงขึ้น แต่ปอดจะดูดซับมลพิษไว้น้อยกว่า กล่าวคือ การปั่นจักรยานทำให้ปอดทำงานหนักมาก

นั่นหมายถึงปะสิทธิภาพในการฟอกอากาศเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ทำให้มลพิษถูกขับออกจากร่างกายเราในเวลาอันสั้น

25 ก.พ. 2555 ร่วมปั่นเมืองกับมูลนิธิโลกสีเขียว อ่านรายละเอียด 
ข้อมูล เมืองมลพิษ อ้างอิงจาก มติชนนไลน์ 
ข้อมูล การใช้รถยนต์ในกรุงเทพ อ้างอิงจาก VOICE TV
ภาพประกอบจาก Internet

Categories
ข่าวตัดมา Bicycle related

ทางจักรยาน นโยบายสำคัญของพรรคการเมืองในอนาคต | โอเพ่นออนไลน์

ทางจักรยาน นโยบายสำคัญของพรรคการเมืองในอนาคต

Thu, 21/01/2010 – 14:52 — วันชัย ตัน http://onopen.com/vanchaitan/10-01-21/5418

สองสามปีที่ผ่านมาผมสังเกตว่าในกรุงเทพมหานคร มีคนขี่จักรยานตามท้องถนนกันมากขึ้น

พรรคพวกตามต่างจังหวัดก็เคยเล่าสู่กันฟังว่ามีคนขี่จักรยานเพิ่มขึ้น  ในที่ทำงานของผมเอง มีพนักงานขี่จักรยานจากบ้านมาบริษัทร่วมสิบคน

พนักงานส่งเอกสารคนหนึ่ง เคยขี่รถมอเตอร์ไซค์กลับบ้าน แต่ปัจจุบันจอดรถไว้ที่ทำงานเพราะสู้ราคาน้ำมันไม่ไหว และใช้จักรยานเป็นพาหนะถีบไปเช้าเย็นกลับวันละประมาณ ๓๐ กิโลเมตร บอกกับผมว่าพอเปลี่ยนมาขี่จักรยาน ทุกวันนี้ประหยัดเงินค่าน้ำมันได้เดือนละ ๒-๓ พันบาท

และสิ่งที่ตามมาคือนิสัยเปลี่ยน จากเดิมเป็นคนใจร้อนและเป็นนักซิ่งตัวยง เวลาขับรถจะขับด้วยความเร็วและคิดถึงที่หมายอย่างเดียว ไม่เคยสนใจอะไรรอบ ๆ ข้างเลย แต่พอหันมาถีบจักรยาน สังเกตว่านิสัยใจคอเปลี่ยนไป  กลายเป็นคนใจเย็น เวลาคนข้ามถนนตรงทางม้าลาย ก็จะหยุดให้คนเดินข้ามไปก่อน ทั้งๆที่สมัยก่อนไม่เคยคิดจะทำเวลาถีบจักรยานกลับบ้าน ก็เพิ่งสังเกตเห็นว่าระหว่างทางมีสิ่งเล็ก ๆตามข้างทางให้เห็นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร วัด สวนดอกไม้ จากที่ไม่เคยใส่ใจมาก่อน

ผมจำได้ว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อน คนเล่นจักรยานมักนิยมซื้อจักรยานเมดอินเจแปน เพราะมีรูปทรงคลาสสิก วัสดุทนทานแข็งแรง ตอนนั้นมีการนำเข้าจักรยานมือสองจากญี่ปุ่นมาขายในกรุงเทพฯ ราคาประมาณคันละพันกว่าบาท  มีร้านเปิดสองสามร้าน แต่ปัจจุบันมีการนำเข้าจักรยานมือสองจากญี่ปุ่นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีร้านค้าหลายสิบแห่ง และราคาขึ้นสูงหลายเท่าตัว ในขณะเดียวกันบรรดารถจักรยานมือหนึ่งมียี่ห้อก็มียอดขายสูงขึ้น รวมไปถึงจักรยานเมดอินไทยแลนด์ก็มีออเดอร์ล่วงหน้ากันทุกโรงงาน

คนเหล่านี้อาจจะใส่ใจในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนหันมาขี่จักรยานกันมาก คือค่าน้ำมันมหาโหดจนจ่ายไม่ไหว

คนเหล่านี้ไม่ได้ขี่จักรยานเล่น ๆ แบบขี่จักรยานไปเที่ยวเล่น  แต่พวกเขาขี่จริงจัง ไม่ต่างจากการเดินทางไปทำงานด้วยรถเมล์ หรือรถส่วนตัว

ผมเชื่อว่ายังมีกลุ่มคนจำนวนมากที่อยากจะขี่จักรยานมาทำงาน มาเรียนหนังสือ แต่หลักประกันสำคัญคือ ทางจักรยานที่ปลอดภัย ไม่ต้องบาดเจ็บ หรือตายอย่างโง่ ๆ เพราะถูกรถชน

เนเธอร์แลนด์ได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของคนขี่จักรยาน เป็นประเทศที่มีจำนวนจักรยานพอ ๆกับจำนวนประชากรคือประมาณ 17 ล้านคัน และแต่ละปีปริมาณรถจักรยานบนท้องถนนก็เพิ่มมากขึ้น  ไปที่ไหนก็มีแต่คนขี่จักรยาน คนที่นั่นอาศัยการเดินทางจากระบบขนส่งมวลชน รถจักรยาน ส่วนรถเก๋งส่วนตัวนั้น เป็นของฟุ่มเฟือย เพราะราคาและภาษีรถแพงมาก

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็สร้างทางจักรยานอย่างดี ปลอดภัย ออกแบบทางจักรยานให้สามารถเชื่อมต่อกันได้  ไม่ใช่มีแค่ตีเส้นแถบสีบนฟุตบาท หรือทางจักรยานสีเขียวริมถนนบางสายกลายเป็นที่จอดรถอย่างในกทม.

ผลที่ตามมาคือ เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีอากาศดีแห่งหนึ่ง ไม่มีปัญหาการจราจรติดขัด สุขภาพจิตของผู้คนก็ดีขึ้น  และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นดินแดนของคนอายุยืน เป็นประเทศที่มีจำนวนคนสูงอายุมากที่สุดในโลก

ในกรุงลอนดอนซึ่งทางการพยายามสร้างแรงจูงใจให้ รถจักรยานเป็นทางเลือกในการคมนาคม เมื่อเร็ว ๆนี้ ได้ออกกฎว่า หากใครจะขับรถยนต์เข้าไปย่านกลางเมือง จะต้องเสียค่าผ่านทางราคาแพง ผลคือทำให้ปริมาณรถยนต์ลดลง และปริมาณรถจักรยานเพิ่มขึ้น

ลองนึกดูว่า หากรถในกรุงเทพมหานครที่มีอยู่เกือบหกล้านคัน หายไปสักสามล้านคัน และเปลี่ยนมาเป็นรถจักรยานแทน การคมนาคมจะคล่องตัวเพียงใด  แต่แน่นอนว่าตอนนั้นคงต้องมีทางจักรยานที่ปลอดภัยและสามารถเชื่อมต่อกันได้

การทำให้จักรยานเป็นทางเลือกสำคัญในการเดินทาง เป็นเทรนด์ใหม่ของประเทศที่เจริญแล้ว เพราะจักรยานได้พิสูจน์แล้วว่า  เป็นทางออกของการแก้ปัญหาหลายอย่างในโลกปัจจุบัน คือการจราจร ลดควันพิษ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ ลดปัญหาโลกร้อน  ลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศจากน้ำมัน และยังได้สุขภาพที่แข็งแรงกลับคืนมา

ผมเชื่อว่าทุกวันนี้มีคนนับล้านคนที่อยากขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ว่า พวกเขารอทางจักรยานที่ปลอดภัย และรัฐบาลให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังจนอาจหยิบเป็นวาระแห่งชาติ

การทำให้จักรยานเป็นทางเลือกสำคัญในการคมนาคม ไม่ต่างจากรถส่วนบุคคล รถเมล์ หรือรถไฟฟ้า อาจจะเป็นนโยบายสำคัญของพรรคการเมืองในอนาคต และน่าจะได้รับเสียงสนับสนุนมาก

อยู่ที่ว่าพรรคการเมืองใดจะมีกึ๋นมากกว่ากัน

 

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 มกราคม 2552

Categories
ข่าวตัดมา

บีอาร์ทีคันละ 8.6 ล้าน แพงจริง..หรือแค่อิจฉา

Thai Rath [23 เม.ย. 51 – 17:10]
http://www.thairath.co.th/news.php?section=hotnews02&content=87062

 
ทั้งที่คนเมืองหลวงต้องทนใช้บริการรถโดยสารประจำทาง ที่ปรับขึ้นราคาไม่หยุดหย่อน แต่คุณภาพการบริการ 20 ปีที่แล้วเป็นยังไง…วันนี้ยังเป็นอย่างนั้น

เป็นที่น่าเสียดาย ทางเลือกใหม่ในการเดินทางของคนกรุงเทพฯที่เพิ่งถูกจุดประกายขึ้นมา ได้ไม่เท่าไร…เป็นอันต้องล้มหมอนนอนเสื่อไปอีกแล้ว

เมื่อโครงการประมูลซื้อรถบีอาร์ที (BRT) หรือรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษของ กรุงเทพมหานคร ถูกขบวนการฮั้วประมูลขาใหญ่ ส่งนอมินีเข้าร้องเรียนแก้เกี้ยวต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ว่า การประมูลไม่โปร่งใส มีความไม่ชอบมาพากล…ทั้งที่ประมูลได้ในราคาต่ำกว่าที่ทางการตั้งไว้

กทม.ตั้งราคาเริ่มต้นไว้ที่คันละ 8,639,498 บาท ประมูลครั้งแรกมีรายการซื้อซองประมูล ไปแล้ว เกิดมีรายการร่วมด้วยช่วยกันฮั้ว เบี้ยวไม่ยอมมายื่นซองประมูล

หวังบีบให้ กทม.ปรับเพิ่มงบประมาณขึ้นไป ประมูลในราคาคันละ 11 ล้านบาท

แต่ทาง กทม.กลับแข็งข้อ หักไม่ยอมงอยืนยันที่จะใช้งบประมาณเท่าเดิม เปิดประมูลใหม่ครั้งที่ 2 ในที่สุดได้บริษัทชนะประมูลไปด้วย ราคาคันละ 8,617,276 บาท

ต่ำกว่าราคากลางที่ทางการกำหนดคันละ 22,222 บาท

ต่ำกว่าที่ขาใหญ่ต้องการประมูลในราคาคันละ 11 ล้าน…ถึงคันละ 2,382,724 บาท

ถึงจะถูกกว่า ประหยัดงบประมาณเงินภาษีประชาชนได้มากกว่า แต่ก็ยังสลัดภาพฮั้วไม่ได้… .เพราะยังติดข้อครหาในเรื่องราคา

รถเมล์อะไรคันละ 8 ล้านกว่าบาท

รถเมล์ทั่วๆ ไปที่เขาซื้อกัน ราคาแค่คันละ 4-5 ล้านเท่านั้นเอง ราคาแพงต่างกันถึง 3-4 ล้านอย่างนี้…ถ้าไม่ฮั้วไม่ล็อก ไม่มีทางที่จะแพงขนาดนี้ได้

ถ้าเปรียบเทียบกับรถเมล์ทั่วไป อย่างรถเมล์ ขสมก.ด้วยแล้ว…ต้องยอมรับความจริง เหมือนที่เขาว่า รถ BRT ราคาอภิมหาแพงจริงๆ

แต่ BRT ต่างกับรถเมล์ ขสมก.ราวฟ้าดิน

ถ้าเคยนั่งรถไฟฟ้า BRT หรือ รถไฟฟ้าใต้ดิน รฟม. ให้ลองหลับตาจินตนาการ เรานั่งอยู่บนรถไฟฟ้าคันเล็กๆ ยาวเท่ารถเมล์ ที่ไม่ได้วิ่งบนราง แต่วิ่งบนถนนในเลนเฉพาะ… นี่แหละรถ BRT ที่คน กทม.ใกล้จะได้นั่ง ได้ใช้บริการ แต่ก็ต้องแห้วไปอย่างทันตาเห็น

เพราะปล่อยให้ออกมาวิ่งเมื่อไร ฝ่ายที่ไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้คะแนนประชานิยมทนไม่ได้ เพราะรถเมล์สายพันธุ์ใหม่ของ กทม.นี้ สเปกที่วางไว้ ต้องบอกว่า…สุดอลังการ

เปรียบเหมือนเอารถเบนซ์ S500 มาวิ่งเป็นแท็กซี่เขียว-เหลือง

รถเมล์ทั่วไป รถสุดหรูของ ขสมก.ที่ใช้กันอยู่ รถเมล์ปรับอากาศ เครื่องยนต์ดีเซล มาตรฐานยูโร 2 ราคาคันละ 5 ล้านบาท

ส่วนรถ BRT สเปกเครื่องยนต์ใช้ก๊าซ NGV ต้องได้มาตรฐานยูโร 3

เฉพาะเครื่องยนต์มาตรฐานยูโร 3 เมืองไทยยังไม่เคยมีรถโดยสารคันไหน ใช้มาก่อน ราคาจะเท่าไรไม่รู้ ผู้รู้ในวงการแต่ไม่ประสงค์ออกนาม ให้เป็นที่ขัดเคืองขาใหญ่ในวงการและ นักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลเหม็นขี้หน้าบอกว่า…ราคาค่าเครื่องยนต์มาตร ฐานยูโร 2 กับ ยูโร 3 น่าจะแพงกว่ากันไม่ต่ำกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3-4 แสนบาท

ระบบเกียร์ BRT กำหนดสเปกให้ใช้เกียร์อัตโนมัติ…รถเมล์ ขสมก. ที่ว่าหรูเลิศคันละ 5 ล้าน ใช้เกียร์ธรรมดา เป็นเกียร์จีนราคาชุดละ 34,000 บาทต่อคัน

ส่วนเกียร์อัตโนมัติสำหรับรถโดยสารขนาดใหญ่ ต้องใช้เกียร์ของสหรัฐ อเมริกา หรือไม่ก็เยอรมนี ราคาตกชุดละประมาณ 9,000 ยูโร ทำให้แพงขึ้นไปอีก 4-5 แสนบาท

จากระบบเกียร์มาระบบเบรก…รถเมล์ ขสมก. ใช้แบรกธรรมดา แต่ BRT กำหนดสเปกต้องเป็นดิสเบรก ทั้งล้อหน้าและล้อหลัง ที่รถต้องใช้แชสซีส์พิเศษ เพลาพิเศษสำหรับดิสเบรกโดยเฉพาะ

ตรงนี้ทำให้ตันทุนรถแพงขึ้นกว่ารถเมล์ธรรมดา อีกประมาณคันละ 1 ล้านบาท เพราะแชสซีส์รถเมล์ที่ติดตั้งดิสเบรกได้ มีผลิตอยู่แค่ใน เยอรมนี กับ ฮังการี เท่านั้น

มีดิสเบรกไม่พอยังต้องมีระบบเบรก EBS ที่สามารถควบคุมระบบเบรกกันล้อล็อกตายและมีระบบป้องกันล้อหมุนฟรีทั้งล้อหน้าล้อหลัง และระบบกระจายแรงเบรก

คนไม่รู้ ฟังแล้วอึ้งกิมกี่ สรุปง่ายๆ เอาเป็นว่า…ระบบเบรกเพื่อความปลอดภัยสุดๆ แบบนี้ จะมีได้เฉพาะในรถเก๋งหรูราคาแพง อย่าง รถเบนซ์ เป็นต้น

ส่วนระบบเบรกแบบรถเมล์ ขสมก.คันละ 5 ล้าน ไม่ต้องเอามาเปรียบเทียบให้อายเขา…เห็นกันอยู่ ที่พุ่งชนตึก ชนคนตาย ระบบเบรกก่อปัญหาทั้งนั้น

สเปกหรูอีกอย่างของ BRT ที่ไม่เคยมีมาก่อนในวงการรถโดยสารไทยนั่นก็คือ รูปโฉมองค์เอว

รถเมล์ทั่วไป ที่เราเห็นจะเป็นแท่งทรงสี่เหลี่ยม…แต่ BRT ต้องเป็นรถมีหน้าโค้งมน ตามหลักอากาศพลศาสตร์ มีรูปลักษณ์ที่สะท้อนถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

พูดง่ายๆ หน้าตาออกมาประมาณคล้ายๆ กับรถหัวจรวดล้ำยุคยังไงยังงั้น

เมื่อรูปโฉมรถไม่เหมือนรถเมล์ทั่วไป ผู้ผลิตจะต้องทำโมหรือแม่พิมพ์ขึ้นมาใหม่ ราคาแม่พิมพ์นั้นประมาณ 10 ล้านเท่านั้นเอง

ถ้าผลิตลอตเดียวทำออกมาหลายร้อยคัน จะคุ้มค่าแม่พิมพ์ แต่ถ้าทำแค่ 45 คันเหมือนที่ กทม.ต้องการ…ค่าโมใหม่จะทำให้รถแพงขึ้นไปอีกคันละ 2 แสนกว่าบาท

ที่ไม่เหมือนรถเมล์ทั่วไปอีกอย่าง…เมื่อรถจอดเทียบสถานี พื้นรถจะต้องมีความสูงเสมอพื้นสถานี แบบเดียวกับรถไฟฟ้า

ผู้โดยสารพิการนั่งรถเข็น สามารถเลื่อนรถเข็นเข้าไปในรถ BRT ได้เลย

ส่วนรถเมล์ ขสมก. พื้นรถเมล์สูงกว่าฟุตปาท คนพิการนั่งรถเข็นใช้บริการไม่ได้ เพราะเจออุปสรรค ต้องปีนขึ้นบันได 2-3 ขั้น

เฉพาะตรงนี้ จะต้องออกแบบรถใหม่ให้เหมือนรถไฟฟ้า ทำให้ค่าใช้แพงเพิ่มขึ้นอีกแค่ประมาณ 5,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 2 แสนบาท

ประตู…รถเมล์ปรับอากาศ ยูโร 2 ประตูมี 2 บาน ด้านหน้ารถกับกลางตัวรถ

รถ BRT ประตูอยู่ตรงกลาง ทั้ง 2 ข้าง เลื่อนเปิดปิดได้เหมือนรถไฟฟ้าพร้อมต้องมี ตัวเซ็นเซอร์ป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารถูกประตูหนีบ…นี่ก็เป็นอีกความเลอเลิศอลังการ ที่รถเมล์ทั่วไปไม่มี ผู้ผลิตต้องเปิดโม เปิดแม่พิมพ์ขึ้นมาใหม่อีกต่างหาก ค่ารถก็แพงขึ้นไปอีก

ยัง แค่นี้ยังไม่พอ…ยังมีระบบนำร่องอัตโนมัติ เวลาเข้าไปจอดรับส่งผู้โดยสาร รถจะต้องจอดโดยให้ประตูรถห่างจากขอบชานชาลาสถานี ไม่เกิน 7.5 ซม. เหมือนรถไฟฟ้า

จะไปจอดห่าง จอดเลนกลางเหมือนรถเมล์ ขสมก.ที่ให้ผู้โดยสารวิ่งกระหืดกระหอบ ไปขึ้นรถกลางถนนไม่ได้

เฉพาะเจ้าระบบนี้ ต้องอัพราคาไปอีกคันละ 3 แสนบาท

แค่นี้น้อยไป ภายในรถจะต้องมีจอแอลอีดี ไว้เป็นป้ายบอกจุดหมายปลายทาง บอกสถานีปัจจุบันและสถานีถัดไป…ยิ่งเหมือนรถไฟฟ้าเข้าไปใหญ่

และเพื่อให้เข้ายุคสมัยโจรชุกชุม ยังระบุสเปกให้ติดกล้องวงจรปิดภายในรถที่สามารถ บันทึกภาพได้ในระบบดิจิตอล เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง

โจรขึ้นมาลักวิ่งชิงปล้น หรือพวกโรคจิตวิปลาสขึ้นมาทำอะไรมิดีมิร้าย มีภาพให้ตำรวจไปไล่จับได้ไม่ผิดตัว…รถเมล์ทั่วไปไม่มี

เฉพาะตัวอย่างที่กล่าวมารวมแล้ว ราคาตัวรถ BRT แพงกว่ารถเมล์สุดหรูของ ขสมก.ไปแล้วร่วม 3 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าเหมาซ่อมอีกต่างหากที่ต้องบวกเพิ่มไปอีก… รวมทั้งหมดเบ็ดเสร็จ เป็นทั้งหมด 8.6 ล้าน

ในขณะที่รถเมล์ของ ขสมก.คันละ 5 ล้าน เป็นราคาเฉพาะตัวรถ…ยังไม่รวมค่าเหมาซ่อมที่คิด ต่างหาก ในราคา 7.50 บาท ต่อ 1 กม.

รถคันหนึ่งวิ่งวันละ 250 กม. ค่าเหมาซ่อมตกวันละ 1,875 บาท ปีละ 684,375 บาท เหมาซ่อมตลอดอายุการใช้งาน…ถ้า 10 ปี เฉพาะค่าซ่อมก็เกือบ 7 ล้านบาทต่อคัน

รวมแล้วรถเมล์ ธรรมด๊าธรรมดา ราคาปาเข้าไปคันละ 12 ล้านนะท่าน…ดีเอสไอ จะว่าแพงเวอร์เกินไปไหมเนี่ย

นายไม่สั่ง ไม่พยักหน้าถือว่า…ราคาสมเหตุสมผล.
 
 

Categories
ข่าวตัดมา

BRT หักเหลี่ยมฮั้ว ประชานิยมเสียเชิง

  
BRT หักเหลี่ยมฮั้ว ประชานิยมเสียเชิง [22 เม.ย. 51 – 17:00]
http://www.thairath.co.th/news.php?section=hotnews&content=86930
การเมืองไทยพัฒนามาไกลเข้าสู่ยุค ”ประชานิยมนอมินี” ขบวนการคอรัปชันฮั้วประมูลพัฒนาไปไกล…ไม่แพ้กัน

ถึงขั้นเรียกได้ว่า…สิ่งที่มองเห็น อาจจะไม่ได้เป็นเหมือนที่เราเห็นก็เป็นได้

เพราะภาพที่เขาให้เราได้เห็นไม่ต่าง…มายากลลวงตา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด โครงการประมูลรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ หรือรถเมล์บีอาร์ที (BRT) ของกรุงเทพมหานคร ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนเขย่าเก้าอี้ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ทั้งที่เพิ่งเจอกรณีจัดซื้อรถเรือดับเพลิงที่ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯคนเก่าทำค้างไว้ เล่นงานไปหมาดๆ

การจัดซื้อรถเมล์ BRT ยังตามมากระหน่ำซ้ำเติม เมื่อ คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร เข้าร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ…การประมูลจัดซื้อรถโดยสารบีอาร์ทีของ กทม. ไม่ชอบมาพากล

ชื่อยี่ห้อคนร้องเรียน…ดูเหมือนจะเกี่ยวข้อง มีดีกรีเป็นถึงอดีตปลัด กทม.ย่อมต้องรู้ลึกรู้ดี…แต่เมื่อแง้มไปดูประวัติ กลับมีภาพมายาบางฉากซ่อนอยู่

คนร้องเกษียณราชการไปตั้งแต่ปี 2549…การเปิดประมูลนี้เกิดขึ้นต้นปี 2551

ฐานะหน้าที่การงานไม่เกี่ยวข้อง แต่เหตุผลของการร้องเรียนฟังขึ้น…ได้รับเรื่องร้องเรียนจากข้าราชการใน กทม. อดีตผู้ใต้บังคับบัญชา จึงน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง

ฮั้วประมูลมีจริงแท้แน่นอน!

ประเทศไทยประมูลงานราชการที่ไหนบ้าง ไม่มีฮั้ว…ถึงไม่มีใครไปร้องเรียน คนทั้งประเทศแบเบอร์เชื่อไปกว่าครึ่งว่า มีจริง

ยิ่งได้อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ออกมาร้องเรียนประโคม ให้เป็นข่าวด้วยแล้ว…ภาพที่ปรากฏออกมาให้สังคมได้เห็น บริษัทที่ชนะการประมูล มีนอกมีในอย่างไม่ต้องสงสัย

ในกรณีนี้ บริษัท เบสท์ลิน กรุ๊ป จำกัด ผู้ชนะการประมูลจึงถูกจับตามอง

ยิ่งรถที่บริษัทจะนำมาใช้ในการเดินรถบีอาร์ทีนี้ เป็นรถจากประเทศจีน ยี่ห้อ โกลเด้น ดราก้อน แน่นอนข้อหาที่พ่วงตามกันมา หนีไม่พ้น…

มีการฮั้วล็อกสเปกให้ค่ายรถยนต์จากจีนได้ประโยชน์

สิ่งที่เราเห็น จะเป็นเหมือนที่เราเห็น…หรือเป็นแค่เพียงภาพมายากล

จะแยกแยะฉากหลังของมายากลให้ออก ไม่ต้องดูอื่นไกล…ดูตรงสเปกที่ว่าล็อก ล็อกให้ค่ายไหนกันแน่…ค่ายไหนได้ประโยชน์จากสเปกไปเต็มๆ

 

ตัวอย่างสเปกแรก เครื่องยนต์ต้องใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติอัด (NGV) ที่ได้มาตรฐานไอเสียไม่ต่ำกว่า ยูโร 3

รถเมล์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบนี้ มีผลิตอยู่ใน 3 ประเทศ สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี กับอิตาลี…ส่วนจีน ญี่ปุ่นไม่มี

สเปกต่อมา ระบบเบรกต้องมีดิสก์เบรกทั้งล้อหน้า ล้อหลัง…คนธรรมดาอาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา รถเก๋งก็มีดิสก์เบรกไม่เห็นจะแปลก

แต่คนที่อยู่ในวงการบอกว่า รถเก๋งมีไม่เป็นไรมีปัญญาซื้อของแพงก็ซื้อไป แต่รถเมล์รถโดยสารนั่น จะมีดิสก์เบรกไม่ใช่เรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องใหญ่เอามากๆ

รถเมล์ที่จะมีระบบดิสก์เบรกทั้งคันได้… ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่เอาเงินไปซื้อดิสก์เบรกแล้วมาติดกับรถได้เลย

เพราะรถเมล์ที่จะติดตั้งระบบดิสก์เบรกได้ โครงรถและเพลารถจะต้องได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษถึงจะติดตั้งได้

โครงและเพลารถเมล์ที่สามารถติดตั้งระบบดิสก์เบรกได้ ในโลกใบนี้มีโรงงานอยู่แค่ 2 แห่งเท่านั้นที่ทำได้…

ZF ของเยอรมนี กับ Laba ของฮังการี

สเปกถัดมา ระบบเกียร์อัตโนมัติ…เกียร์แบบนี้สำหรับรถเมล์ ในโลกนี้ก็มีอยู่ 2 ประเทศที่ทำได้ สหรัฐอเมริกา กับเยอรมนี

เห็นสเปกแล้ว…ลงเอยไปที่ยุโรป กับเยอรมนีเป็นหลัก…

จีน ญี่ปุ่นหากินแทบไม่ได้เลย

ล็อกสเปกให้ค่ายไหน ยังเห็นแค่เงารางๆ

จะเห็นเบื้องหลังให้ชัดสุดๆ ต้องดูที่การประมูลรถ BRT ไม่ได้ ประมูลแค่ครั้งเดียว…ประมูล 2 ครั้ง

ไคลแมกซ์ของการฮั้วอยู่ตรงครั้งแรก มีหลักฐานให้เห็นแบบ บังเอิ๊ญบังเอิญ

ประมูลครั้งแรก เปิดให้เอกชนมาซื้อซองประมูลในกลางเดือนตุลาคม 2550 มีผู้มาซื้อซองไปทั้งหมด 18 ราย…ส่วนใหญ่เป็นค่ายรถจากยุโรป ด้วยเหตุผลสเปกเป็นใจ

9 พ.ย. 2550…วันยื่นซองประมูล

ปรากฏว่า ทั้ง 18 ราย…ไม่มีใครมายื่นซองประมูลแม้แต่รายเดียว

พร้อมใจกันเบี้ยว โดยไม่ได้นัดหมาย…ไม่ได้ร่วมด้วยช่วยกันฮั้วอย่างนั้นหรือ?

แค่นั้นไม่พอ เมื่อพร้อมใจไม่ไปยื่นประมูล…เกิดปรากฏการณ์ อภินิหารโดยไม่ได้นัดหมาย…อีกแล้ว…ครับท่าน

14 พ.ย. 2550…บริษัทประกอบรถยนต์ขาใหญ่ที่มักจะเป็นหัวโจกออกมาขู่ขอขึ้นค่ารถเมล์เป็นนิจ รวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ค่ายยุโรปหลายบริษัท ที่พร้อมใจกันเบี้ยวไม่ยอมยื่นประมูล มีจดหมายไปยังกรุงเทพมหานครพร้อมกัน…เหมือนไม่ได้นัดหมายมาก่อน

เนื้อความในจดหมาย และทั้งที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงสาเหตุ ที่ไม่ยอมประมูลให้เหตุผลมิต่างกัน…วงเงินงบประมาณที่ทาง กทม.ตั้งไว้น้อย

งบประมาณที่ กทม.ตั้งไว้จะซื้อรถ 45 คัน เป็นเงิน 388 ล้านบาท หรือตกคันละ 8.6 ล้านบาท

จะให้เขาประมูลล่ะก็ กทม.ควรที่จะปรับวงเงินงบประมาณขึ้นไปอีกหน่อย เป็น 495 ล้านบาท หรือคันละ 11 ล้านบาท

พูดง่ายๆ คือ ขอกำไรเพิ่ม ไม่มากไม่มายแค่คันละ 2 ล้านกว่าๆ เท่านั้นเอง…45 คัน เพิ่มแค่ 100 ล้านเอง

นี่คือภาพมายากล ที่คนทั่วไปมองไม่เห็น

หาญกล้าขอเพิ่ม เพราะนี่คือโอกาสทอง จังหวะทอง…ด้วยเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน ผู้ว่าฯอภิรักษ์จะครบเทอม

ถ้าไม่รีบประมูล ไม่ปรับขึ้นราคาตามที่ฝ่ายผู้ประกอบการร้องขอล่ะก็…

รถบีอาร์ทีเสร็จไม่ทันเลือกตั้งเป็นแน่!

ที่เคยสัญญาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมื่อปี 2547 ว่าจะทำรถบีอาร์ทีให้คนเมืองกรุงได้ใช้ เสร็จไม่ทัน ผู้ว่าฯลงเลือกตั้งอีกหน เดือนกันยายนนี้…ล่องจุ๊นแน่

ขบวนการร่วมด้วยช่วยกันฮั้ว ฝันหวาน…แผนการจับรถบีอาร์ทีเป็นตัวประกันเรียกค่าไถ่ประมูล ในช่วงเวลาใกล้เลือกตั้งอย่างนี้

ยังไงซะฝ่ายการเมือง ที่ต้องการแปลงรถบีอาร์ทีเป็นคะแนนประชานิยม ต้องยินยอมจ่ายค่าไถ่อย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ผิดคาด…กทม.ไม่ยอมปรับขึ้นราคาตามคำขู่ ถัดมาไม่กี่วัน เปิดการประมูลใหม่อีกรอบ เป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 20 ธ.ค. 2550

เจ้าเก่า 18 ราย โบกมือบ๊ายบายไป 6…มีเจ้าใหม่เพิ่มเข้า คราวนี้บริษัท จีนเปิดศึกชิงประมูลด้วย และก็ชนะไปด้วยราคาต่ำสุดคันละ 8.6 ล้านบาท

ตรงตามเป้างบประมาณที่ทาง กทม.ตั้งไว้…บริษัทหน้าใหม่จากจีน เปิดศึกประมูลตัดราคาแซงหน้าเจ้าเก่าขาใหญ่

จากนั้นไม่กี่วัน…ภาพมายากลฮั้ว ก็ปรากฏเป็นข่าว ชี้เป้าไปอีกทาง เพราะเมื่อคดีเป็นเรื่องเป็นราวถึงดีเอสไอ ที่วันนี้หัวขบวนเปลี่ยนสถานะ ไปยืนคนละฝั่งพรรค โครงการบีอาร์ทีคงต้องหยุดชะงักไปอีกนาน

เข้าตำรา ฉันไม่ได้กิน คุณก็อย่าหวังว่าจะชนะเลือกตั้ง

ส่วนประเทศชาติจะฉิบหาย ประชาชนจะเสียโอกาสก็ช่างหัวมัน…เพราะที่นี่ประเทศไทย.