ทางจักรยาน Creative Economy ของจริง | โอเพ่นออนไลน์.
http://onopen.com/vanchaitan/10-01-03/5420
การประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก (UNFCCC) เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อเดือนธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งถูกโฆษณาล่วงหน้าว่าจะเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ของผู้นำทั่วโลก ที่จะนำไปสู่ข้อตกลงอันสำคัญ ในการจัดการกับสภาวะโลกร้อนก็ได้สิ้นสุดลง ท่ามกลางความผิดหวังของคนทั่วโลก เพราะดูเหมือนต่างฝ่ายจะมาเถียงกันมากกว่ามาเจรจา
บรรดาตัวการสำคัญอย่างจีน อินเดีย บราซิล สหรัฐอเมริกา แค่สัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ไม่รับปากว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ และประชุมกันใหม่ปีหน้าค่อยมาต่อรองกันใหม่
นี่ขนาดประชุมไปท่ามกลางอากาศวิปริตครั้งใหญ่จากปัญหาโลกร้อน อาทิ หิมะตกหนักทางซีกโลกเหนือ ส่วนซีกโลกใต้ก้อนน้ำแข็งใหญ่ขนาดเกือบเท่าเกาะภูเก็ตที่แตกมาจากแอนตาร์ติ กากำลังลอยมาใกล้ทวีปออสเตรเลียทุกขณะ มนุษย์แต่ละชาติยังคงต่อรองให้ชาติตัวเองได้ผลประโยชน์มากที่สุด
แต่ในท่ามกลางความล้มเหลวของการเจรจา สื่อมวลชนทั่วโลกได้พร้อมใจกันรายงานเรื่องเล็ก ๆ เรื่องหนึ่งที่เป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืน นั่นคือ ตัวอย่างการใช้จักรยานในกรุงโคเปนเฮเกน
เมืองหลวงของประเทศเดนมาร์กแห่งนี้กลายเป็นเมืองที่มีผู้ใช้จักรยานมาก ที่สุดในโลก กล่าวคือทุก ๆวันประชากรของกรุงโคเปนเฮเกนราว 40 % หรือประมาณ 4 แสนกว่าคน ขี่จักรยานไปทำงาน เรียนหนังสือ จ่ายกับข้าว ไปดูหนัง ดูคอนเสิร์ต ฯลฯ
พวกเขาขี่จักรยานเพื่อใช้ในชีวิตจริง ไม่ใช่ขี่เที่ยวเล่นแบบชิว ๆ ขี่กันจนกลายเป็นชีวิตประจำวันทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ คนทำงาน แม่บ้าน
หลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลเดนมาร์กได้สร้างแรงจูงใจให้คนเมืองหันมาใช้รถจักรยานและการขนส่งมวล ชนแทนการใช้รถส่วนตัว โดยการเก็บภาษีรถยนต์ในราคามหาโหด รวมถึงค่าจอดรถก็แพงไม่แพ้กัน ทำให้คนเดนมาร์กไม่มีกำลังซื้อรถส่วนตัวในขณะเดียวกันก็อำนวยความสะดวกในการ สร้างระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า และทางจักรยานมากมาย
ความกว้างของถนนบางสายอาจจะแคบกว่าทางจักรยานหรือฟุตบาทด้วยซ้ำ เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับทางจักรยานและการเดินเท้ามากกว่าทางรถยนต์
สองสามปีที่ผ่านมา เทศบาลกรุงโคเปนเฮเกนทุ่มเงินเกือบสองพันล้านบาท สร้างทางจักรยานและทำให้การจราจรปลอดภัยมากขึ้นสำหรับคนขี่จักรยาน ซึ่งสร้างแรงจูงใจให้คนเมืองทิ้งรถเก๋งออกมาขี่จักรยานกันมากขึ้น และบรรดาพนักงานเทศบาลรู้ดีว่า หากวันไหนหิมะตกหนัก ให้เก็บกวาดหิมะบนทางจักรยานก่อนถนน
ทุกวันนี้จึงมีชาวโคเปนเฮเกนเพียงร้อยละ 30 ที่ใช้รถส่วนตัว ที่เหลือใช้ระบบขนส่งมวลชนและจักรยาน และทางเทศบาลกรุงโคเปนเฮเกนอีกห้าปีข้างหน้าจำนวนคนขี่จักรยานจะพุ่งไปร้อย ละ 50
เมื่อปริมาณรถบนถนนน้อยลง การใช้น้ำมันก็ลดลง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ไม่มีปัญหาหงุดหงิดจากรถติด คุณภาพอากาศดีขึ้นทันตา และอุบัติเหตุบนท้องถนนก็ลดลง คุณภาพชีวิตก็ตามมา
ลองหลับตานึกภาพกรุงเทพมหานครที่มีประชากร 10 ล้านคน รถยนต์ 6 ล้านคัน หากรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะให้คนกรุงประมาณ 10 % หันมาขี่จักรยาน โดยการสร้างทางจักรยาน สร้างระบบการจราจรที่ปลอดภัยสำหรับจักรยาน รับรองว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างแน่นอน
สองสามปีที่ผ่านมา หลังจากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากลองสังเกตดู จะเห็นปริมาณคนใช้จักรยานในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นทันตาเห็น หากลองไปสำรวจร้านขายรถจักรยานมือสองนำเข้าจากญี่ปุ่นที่เคยมีสองสามแห่ง ตอนนี้ผุดกันขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ยอดจำหน่ายรถจักรยานทั้งของในและนอกประเทศเพิ่มขึ้นหลายเท่า
นี่ขนาดกทม. ยังไม่ได้มีมาตรการเรื่องทางจักรยานอย่างจริงจัง ที่ผ่านมา ดูเหมือนนโยบายเรื่องทางจักรยานของกทม. จะทำเป็น “ของเล่น” หรือ “สร้างภาพ”มากกว่าจะเห็นว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาการจราจร
ผู้เขียนเชื่อว่า คนเมืองจำนวนมากอยากขี่จักรยานไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ หากได้หลักประกันว่า ทางจักรยานจะปลอดภัยจากอุบัติเหตุ
แต่ดูเหมือนรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยสนใจ ทางจักรยาน อย่างจริงจัง ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะเกรงใจบรรดาอุตสาหกรรมรถยนต์ หรือนักการเมืองอาจจะไม่มีวิสัยทัศน์พอ จักรยานในสายตาของผู้มีอำนาจจึงยังเป็นเพียงการ ขี่เล่น ๆ ขี่ออกกำลังกาย ขี่รณรงค์ลดโลกร้อน มากกว่าการขี่ใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน ทางจักรยานในกทม. จึงดูจะเป็นทางพิการ มากกว่าทางที่ใช้งานได้
ทุกวันนี้จักรยานในชีวิตจริงจึงเป็นที่น่ารังเกียจจากทุกฝ่าย จะขี่บนถนน ก็กลัวโดนรถเมล์ไล่บี้ แถมทางจักรยานแถวเกาะรัตนโกสินทร์ก็กลายเป็นที่จอดรถทัวร์ ครั้นจะขี่บนทางเท้า ก็โดนแม่ค้าหาบเร่ยึดครอง แถมที่จอดรถจักรยานหลายแห่ง ก็ถูกรื้อทิ้งเป็นที่ขายของ ครั้นจะหลบไปขี่ในสวนสาธารณะก็ถูกรปภ.ไล่ออกมา
อย่างไรก็ตาม ทางจักรยานกำลังเป็นเทรนด์ หรือกระแสที่มาแรงมากในเมืองหลวงเกือบทุกแห่งในยุโรปและอเมริกา ตั้งแต่นิวยอร์ก ซีแอตเติล ซานฟรานซิสโก ลอนดอน สต็อกโฮล์ม ออสโล เมลเบิร์น ซิดนีย์ และโตเกียว เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยลดปัญหาโลกร้อน ลดการขาดดุลจากการนำเข้าน้ำมัน แก้ปัญหาการจราจรและลดอุบัติเหตุด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดด้วย
ล่าสุดชาวนิวยอร์คใช้จักรยานเพิ่มสูงขึ้นถึง 26 % เทศบาลกรุงนิวยอร์คสร้างช่องทางจักรยานเพิ่มขึ้นอีก 300 กว่ากิโลเมตร และได้เปลี่ยนอาคารที่จอดรถให้เป็นสวนสาธารณะ ขณะที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีจำนวนจักรยานพอ ๆกับจำนวนประชากร และได้รับการยกย่องว่ามีทางจักรยานสวยและปลอดภัยที่สุด
ทางจักรยานจึงเป็นเสมือน Creative Economy แนวใหม่ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของผู้บริหารประเทศ กล้าผลักดันความคิดใหม่ ๆ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ และคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยรวม
เพียงแต่ว่าบ้านเราคงต้องอาศัยกึ๋นและความกล้าของนักการเมืองด้วย ที่ต้องทำให้ ทางจักรยาน เป็นวาระของชาติ มีนโยบายและงบประมาณชัดเจน โดยไม่ต้องเกรงใจบรรดาอุตสาหกรรมรถยนต์และผู้ผลิตน้ำมันให้มาก ซึ่งผู้เขียนเชื่อมั่นว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างแน่นอน
ทางจักรยาน จึงถือเป็นการ CHANGE ครั้งสำคัญของสังคมไทย เพราะเชื่อขนมกินได้ว่าจะได้รับการต่อต้านจากหลายฝ่ายทำนองว่า ทำไม่สำเร็จหรอก วุ่นวาย มันยากเกินไป
โอบามาร์ก ผู้เพิ่งไปร่วมงานมอเตอร์โชว์เมื่อเร็ว ๆนี้ กล้า ไหมครับ
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 3 มกราคม 2553